สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548 มีมติเห็นชอบให้นำ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award : PMQA) มาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันให้การพัฒนาระบบราชการ มีประสิทธิภาพและยั่งยืน มุ่งเน้นประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของภาครัฐ มีประสิทธิภาพ/คุ้มค่า ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงภารกิจ/โครงสร้างให้เหมาะสมอำนวยความสะดวกตอบสนองความต้องการของประชาชน มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ ตอบสนองพระราช บัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 3/1 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 กรมอนามัย จึงได้นำกรอบแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award : PMQA) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ มา "พัฒนากระบวนการดำเนินงานการรับรองคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Environmental Health Accreditation : EHA)" เพื่อเป็นกลไกและเครื่องกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเป็นระบบทั้งองค์กร ทำให้องค์กรเกิดการเรียนรู้ มีการประเมินและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีคุณภาพและยั่งยืน อันจะนำไปสู่การลดความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนที่จะได้รับการคุ้มครองด้านการบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างมีคุณภาพ เป็นการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อคุ้มครองประชาชนด้านสุขภาพ โดยในปี 2555 กรมอนามัยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อร่วมส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และในปี 2557 ได้เริ่มกระบวนการประเมินรับรองคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Environmental Health Accreditation: EHA) โดยครอบคลุมการดำเนินกิจการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขของประชาชน ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน ตลอดจนกิจการขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยมีประเด็นงานอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ให้การรับรอง
บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.1 หน่วยงานกรมอนามัยส่วนกลาง มีแนวทางการดำเนินงานดังนี้
- 1. พัฒนาหลักสูตรพัฒนาศักยภาพสำหรับ ผู้ตรวจประเมิน ผู้ให้คำปรึกษา และผู้ปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- 2. ปรับปรุง SOP การดำเนินงานรับรองคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม (9 ประเด็นงาน)
- 3. พัฒนา และจัดทำเอกสารคู่มือแนวทางการขับเคลื่อนงานรับรองคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม
- 4. พัฒนาระบบการติดตาม ประเมินผลการรับรอง EHA
- 5. จัดทำระบบฐานข้อมูลของ EHA ในภาพรวมของกรมอนามัย
- 6. ทำการร่วมสุ่มประเมิน เยี่ยมเสริมพลัง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของการขับเคลื่อนงาน EHA ของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- 7. จัดทำสรุปบทเรียน EHA
3.2 ศูนย์อนามัย มีแนวทางการดำเนินงานดังนี้
- 1. พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ สำหรับการเป็นผู้ตรวจประเมิน ผู้ให้คำปรึกษา และผู้ปฏิบัติงานสำหรับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ
- 2. สนับสนุนเอกสารคู่มือแนวทางการขับเคลื่อนงานรับรองคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม
- 3. จัดทำระบบฐานข้อมูลของ EHA ในภาพรวมของศูนย์อนามัย และคืนข้อมูลให้กับพื้นที่เพื่อการพัฒนา
- 4. ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สุ่มประเมินรับรองการพัฒนา EHA ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- 5. ทำการคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่พัฒนา EHA ในระดับเกียรติบัตร
- 6. ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการทำงานของ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ
3.3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ มีแนวทางการดำเนินงานดังนี้
- 1. พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ สำหรับการเป็นผู้ตรวจประเมิน และผู้ปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- 2. สนับสนุนเอกสารคู่มือแนวทางการขับเคลื่อนงานรับรองคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม
- 3. จัดทำระบบฐานข้อมูลของ EHA ในภาพรวมของจังหวัด และคืนข้อมูลให้กับพื้นที่เพื่อการพัฒนาให้คำปรึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- 4. ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการทำงานของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- 5. ทำการตรวจประเมินรับรองการพัฒนา EHA ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับพื้นฐาน
- 6. จัดประชุมเสริมสร้างคุณค่างาน มอบเกียรติบัตร และจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของการขับเคลื่อนงาน EHA ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบ
3.4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีแนวทางการดำเนินงานดังนี้
- 1. ผลักดันให้เกิดการการพัฒนาเชิงนโยบาย แผนการดำเนินงาน เป้าหมาย และวิธีการดำเนินงานได้อย่างชัดเจนเพื่อการบริหารงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สุขกับประชาชนในท้องถิ่น
- 2. สมัคร และเลือกประเด็นงาน EHA (9 ประเด็น) ตามที่กำหนด
- 3. พัฒนา และดำเนินงานตามกระบวนการของ EHA ตามมาตรฐานของกรมอนามัย
- 4. ทำการประเมินตนเอง (Self-assessment) ตามประเด็น (ตามที่สมัคร)
- 5. เป็นผู้ตรวจสอบ (Inspectors ) และควบคุมดูแล เกี่ยวกับ สถานปะกอบกิจการ/ บริการอนามัยสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และ พระราชบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักวิชาการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม
กระบวนการรับรองคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นการประเมินคุณภาพการบริหารจัดการกระบวนการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์คุณภาพขององค์กร ขั้นตอนการดำเนินการ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 การพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม
- (1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สนใจสมัครเข้าร่วมการพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม
- (2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับระบบคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมผ่าน ระบบ EHA SMART WEB ของกรมอนามัย ซึ่งจะมีเอกสารคู่มือการพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมรวมทั้งองค์ความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้อง
- - กรณีไม่มีข้อสงสัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถดำเนินงานพัฒนาและประเมินตนเองตามแนวทางการตามมาตรฐานการปฏิบัติงานระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่กรมอนามัยกำหนด
- - กรณีมีข้อสงสัย สามารถติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ศูนย์อนามัยที่ 1–12 หรือกรมอนามัยในพื้นที่ เพื่อขอรับการอบรม/ชี้แจงทำความเข้าใจ/หรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้
ขั้นตอนที่ 2 การประเมินตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
- (1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเมินตนเองตามเกณฑ์ที่กำหนดผ่านระบบ EHA SMART WEB
- (2) กรณีมีข้อสงสัยในการประเมินตนเองประสานขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมจากกรมอนามัย (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หรือศูนย์อนามัยที่ 1 – 12
- (3) เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเมินตนเอง “ผ่าน” ตามเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
- (4) แจ้งขอรับการประเมินรับรองจากกรมอนามัย โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หรือศูนย์อนามัยที่ 1 – 12
ขั้นตอนที่ 3 การประเมินและรับรองโดยกรมอนามัย
- (1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการส่งรายงานผลการประเมินตนเองผ่านระบบ EHA SMART WEB ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หรือกรมอนามัย เพื่อให้คณะกรรมการตรวจประเมินฯ พิจารณาเบื้องต้น หากพบว่าเอกสารไม่ครบถ้วนจะแจ้งให้จัดส่งเอกสารเพิ่มเติม
- (2) กรมอนามัยดำเนินการตรวจประเมินการดำเนินงานบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการตรวจสอบเอกสารอ้างอิงในแต่ละองค์ประกอบ สัมภาษณ์และตรวจการปฏิบัติการบริการต่างๆ
- (3) กรมอนามัยแจ้งผลการประเมินรับรองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบกรมอนามัยขึ้นทะเบียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านการประเมินรับรอง และออกใบประกาศเกียรติบัตรรับรอง (โดยใบรับรองที่กรมอนามัยออกให้มีอายุการรับรอง 3 ปี)
- (4) สรุปผลการประเมินคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- 4.1 สำเนาสรุปผลการตรวจประเมินคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ ตามประเด็นที่สมัคร
- 4.2 สรุปผลการประเมินคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ตามเกณฑ์คะแนนใน LPA (Local Performance Assessment) ตามข้อตกลงในแต่ละปี
- 4.3 ใบสมัครกรณีผ่านเกณฑ์ระดับพื้นฐานต้องการพัฒนาไปสู่ระดับเกียรติบัตรจะต้องสมัครใหม่
เงื่อนไขการรับรอง EHA
การรับรองคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการดำเนินงาน “ผ่าน” ครอบคลุม เงื่อนไข ดังนี้
- เงื่อนไขที่ 1 การบริหารจัดการ การดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น (องค์ประกอบที่ 1 – 5) กำหนดค่าคะแนนรวมทุกองค์ประกอบ (คะแนนเฉลี่ยรวมทุกด้าน) “ผ่าน” ร้อยละ 60 ขึ้นไป โดยใช้ผลการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ-อปท) (Local Performance Assessment: LPA) ตามผลการประเมินในปีก่อนหน้าเป็นหลัก
- เงื่อนไขที่ 2 การจัดการกระบวนการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ขอรับการรับรอง และผลลัพธ์การดำเนินงาน (องค์ประกอบที่ 6 – 7) ตามแบบประเมินมาตรฐานคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม (EHA) “ผ่าน” เกณฑ์กระบวนการตามเงื่อนไขที่กำหนดในคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Standard Operating Procedure : SOP) และได้ผลลัพธ์การดำเนินงานตามมาตรฐานกระบวนการที่กำหนด ดังนี้
คะแนน LPA (คะแนนเฉลี่ยรวมทุกด้าน) |
ร้อยละ 60-79 |
คะแนน EHA ต่ำกว่าร้อยละ 60 |
ไม่ผ่านเกณฑ์ |
คะแนน LPA (คะแนนเฉลี่ยรวมทุกด้าน) |
ร้อยละ 60-79 |
คะแนน EHA ร้อยละ 60 ขึ้นไป |
ผ่านเกณฑ์พื้นฐาน |
คะแนน LPA (คะแนนเฉลี่ยรวมทุกด้าน) |
ร้อยละ 80 ขึ้นไป |
คะแนน EHA ร้อยละ 60-79 |
ผ่านเกณฑ์พื้นฐาน |
คะแนน LPA (คะแนนเฉลี่ยรวมทุกด้าน) |
ร้อยละ 80 ขึ้นไป |
คะแนน EHA ร้อยละ 80 ขึ้นไป |
ผ่านเกณฑ์เกียรติบัตร |